วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

กิจกรรมที่ 6 DATA for Computer Project

 


กิจกรรมที่ 6

DATA for Computer Project

เรื่อง

Enneagram of Personality

นพลักษณ์ รู้จักคนด้วยบุคลิกทั้ง 9 แบบ




Enneagram คือบุคลิกภาพพื้นฐานทั้ง 9 แบบ ซึ่งมีความแตกต่างกันทางความคิด ความรู้สึก และการกระทำท่ีโดดเด่นหรือแตกต่างกันท่ีเป็นพื้นฐานใน 9 ลักษณะ นพลักษณ์สามารถทำให้บุคคลได้รู้จักตัวตน เรียนรู้ที่จะนำการเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์มาสู่ตัวเองได้มากขึ้น และเข้าใจในวิธีการสร้างสัมพันธ์กับคนอื่นมากขึ้นด้วยเช่นกัน


ลักษณ์ทั้งหมด มี 9 ประเภท และในทฤษฎีของ Enneagram จะแบ่งออกไปอีกเป็น 3 กลุ่มแยกออกไป เรียกว่า ‘บ้าน’ คือ บ้านกาย (8,9,1) เป็นบ้านที่เน้นการกระทำ บ้านจิตใจ (2,3,4) เป็นบ้านของอารมณ์ ความรู้สึก และบ้านสมอง (5,6,7) เป็นบ้านของความคิด การวิเคราะห์ ตรรกะต่าง ๆ


HR สามารถประยุกต์ Enneagram เรื่องบุคลิกภาพมาใช้บริหารและพัฒนาพนักงานในองค์กรได้ค่อนข้างหลายทาง เพราะบุคลิกภาพและลักษณะพฤติกรรมในการทำงานของแต่ละคนมีผลต่อการทำงาน โดยการเลือกคนให้เหมาะกับงาน การเสริมสร้างความเข้าใจในบุคลิกลักษณะและพฤติกรรมของกันและกัน และการพัฒนาพฤติกรรมด้วยวิธีต่าง ๆ


Enneagram บุคลิกภาพเป็นสิ่งที่กำหนดทิศทางการประพฤติปฏิบัติของบุคคล และเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของงานด้วย ช่วยให้พนักงานมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน โดยเกิดจากความเข้าใจ ความไว้วางใจ ความเคารพ และการสื่อสารกันอย่างเปิดใจ นำมาซึ่งบรรยากาศที่ดีในการทำงาน





ประวัติของนพลักษณ์

นพลักษณ์ (Enneagram) มีที่มาจากคำสอนโบราณของกลุ่มอิสลามนิกายซูฟีซึ่งมีมาอย่างยาวนานกว่าพันปี แต่เดิมถูกถ่ายทอดผ่านการเล่าแบบปากต่อปาก ซึ่งจะช่วยทำให้คนแต่ละคนสามารถถ่ายทอดบุคลิกภาพของตัวเองออกมาได้ เหมือนที่หลายๆ คนได้มีประสบการณ์ตรงในเวิร์คช็อปนพลักษณ์ ที่เริ่มแรกอาจเห็นว่าแต่ละคนมีความแตกต่างมาก แต่เมื่อพวกเขาได้ผ่านกระบวนการในเวิร์คช็อป พวกเขากลับค่อยๆ เข้าใจตัวเองชัดเจนขึ้น รู้จักความเหมือนและความแตกต่างของผู้คนมากขึ้น


นพลักษณ์ (Enneagram) เป็นที่แพร่หลายในโลกตะวันตกมากขึ้นโดย G.I. Gurdjieff ซึ่งนำองค์ความรู้เรื่องนพลักษณ์มาใช้ในการสอนในประเทศรัสเซียและแถบยุโรปในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20


หลังจากนั้น Oscar Ichazo ได้นำองค์ความรู้เกี่ยวกับนพลักษณ์มาศึกษาในด้านจิตวิทยา ทำให้นพลักษณ์เป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในด้านจิตวิทยา แต่การศึกษาและการสอนของเขาก็ยังไม่แพร่หลายมากนัก จนกระทั่ง Claudio Naranjo สร้างกลุ่มที่นำการเรียนรู้ทางด้านจิตวิทยาและจิตวิญญาณขึ้นมาจนนำมาสู่หนังสือที่เกี่ยวข้องกับนพลักษณ์เล่มแรก และได้ทำให้นพลักษณ์แพร่หลายถึงทุกวันนี้

การแบ่งคนตามลักษณะของ Enneagram ทั้ง 9 ประเภท


  • ลักษณ์ 1 ผู้แสวงหาความสมบูรณ์แบบ เป็นลักษณ์ที่ต้องการความสมบูรณ์แบบ มักจะมีกฎระเบียบ มาตรฐาน ให้กับสิ่งต่างๆ อยู่เสมอ มักคิดว่าสิ่งใดควรทำสิ่งใดไม่ควรทำ ชอบวิจารณ์สิ่งต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา

    ข้อเด่น: มีจริยธรรม มีอุดมคติ สร้างผลงาน ไว้ใจได้ มีความยุติธรรม ซื่อสัตย์ มีวินัยในตนเอง มีมโนธรรม ช่วยเหลือคนอื่น มีความเป็นปรนัยไม่ใช้ความรู้สึก
    ข้อด้อย: ตัดสินคนอื่น ไม่ยืดหยุ่น ควบคุมคนอื่น กังวล ชอบโต้เถียง มักเหน็บแนม ไม่ประนีประนอม ดื้อ เอาจริงเอาจังเกินไป วิพากษ์วิจารณ์คนอื่น


  • ลักษณ์ 2 ผู้ให้ เป็นลักษณ์ที่ชอบช่วยเหลือคนอื่น ต้องการเป็นคนสำคัญของคนอื่น ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ มักจะให้ความสำคัญกับความต้องการของคนพิเศษมากกว่าความต้องการของตัวเอง

    ข้อเด่น: น่ารัก อบอุ่น ปรับตัวเก่ง ใจกว้าง กระตือรือร้น กตัญญูรู้คุณ เข้าใจความรู้สึกคนอื่น แสดงความรู้สึกได้ดี เป็นมิตร เอาใจใส่ผู้อื่น
    ข้อด้อย: ชอบอ้อมค้อม เอาใจคนอื่นจนเกินไป แสดงความรู้สึกมากเกินไป ชอบควบคุม หวงแหนหรือแสดงความเป็นเจ้าของ ไม่จริงใจ เล่นบทผู้เสียสละจนตัวเองลำบาก เล่นเล่ห์เพทุบาย ฮีสทีเรีย


  • ลักษณ์ 3 นักแสดง เป็นลักษณ์ที่ต้องการประสบความสำเร็จ จริงจังกับการไปให้ถึงเป้าหมาย ชอบการแข่งขัน ให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ของตัวเอง สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อทำให้ตัวเองไปสู่เป้าหมายได้

    ข้อเด่น: มีพลัง มีประสิทธิภาพ มองโลกในแง่ดี ขยันหมั่นเพียร ผลักดันตัวเอง เป็นนักปฏิบัติ มีความรับผิดชอบ ไม่หวงอำนาจ มีความสามารถ
    ข้อด้อย: เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง อวดอ้างตนเอง หลงลำพอง ฉาบฉวย ผูกพยาบาท ชอบช่วงชิงแข่งขันเกินไป หลอกลวง ปกป้องตัวเอง เป็นนักฉวยโอกาส


  • ลักษณ์ 4 ผู้โศกซึ้ง เป็นลักษณ์ที่มีอารมณ์ลุ่มลึกหลากหลายโดยเฉพาะอารมณ์เศร้า โหยหาสิ่งที่ตนเองไม่มี ไม่ค่อยพอใจในสิ่งที่มีแล้ว อารมณ์แปรปรวน เปลี่ยนแปลงง่าย

    ข้อเด่น: เป็นตัวของตัวเอง รับรู้สิ่งต่างๆได้ดี แสดงออกได้ดี มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นคนอบอุ่น คอยช่วยเหลือผู้อื่น ประณีต เห็นอกเห็นใจคนอื่น อ่อนโยน มีไหวพริบ
    ข้อด้อย: อารมณ์ไม่แน่นอน เก็บตัว หมกมุ่นกับตัวเอง ***อิจฉา เรียกร้องความต้องการทางอารมณ์ รู้สึกเจ็บปวดได้ง่าย วางท่ายโส ซึมเศร้า ชอบวิพากษ์วิจารณ์ ชอบตามใจตัวเอง


  • ลักษณ์ 5 นักสังเกตการณ์ เป็นลักษณ์ที่ต้องการความเป็นส่วนตัวสูง ต้องการมีระยะห่างระหว่างตัวเองกับคนอื่น มักจะแยกตัวเองออกจากอารมณ์ รู้สึกหมดพลังได้ง่ายเมื่ออยู่กับคนอื่น ต้องการเวลาส่วนตัวสูง

    ข้อเด่น: มีความเป็นปรนัยไม่ใช้ความรู้สึก จดจ่อแน่วแน่ ฉลาด มีเมตตา เปิดกว้าง เข้าใจได้เร็ว ไว้วางใจได้ สงบ สนใจใฝ่รู้ เข้าใจอะไรได้ลึกซึ้ง
    ข้อด้อย: ชอบโต้เถียง หยิ่งยโส ตระหนี่ ช่างติ คิดในแง่ลบ ชอบเก็บตัว ดื้อ ตัดสินหรือตำหนิคนอื่น เก็บเรื่องต่างๆไว้ไม่ให้คนอื่นรู้ แปลกแยกจากคนอื่น


  • ลักษณ์ 6 นักปุจฉา เป็นลักษณ์ที่มีคำถามกับสิ่งรอบตัว คาดการณ์เหตุการณ์เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้น มีความสงสัยตลอดเวลา หรืออาจเป็นคนกล้าได้กล้าเสีย เตรียมตัวเองให้พร้อมที่จะรับมือหรือปะทะกับสิ่งที่อาจมาคุกคามได้ตลอดเวลา

    ข้อเด่น: ซื่อตรง ระมัดระวัง สนใจใฝ่รู้ เอาใจใส่ผู้อื่น เห็นอกเห็นใจคนอื่น มีไหวพริบ เป็นนักปฏิบัติ มีความรับผิดชอบ ชอบช่วยเหลือสนับสนุน ซื่อสัตย์ เชื่อถือได้
    ข้อด้อย: วิตกจริต ชอบควบคุมคนอื่น เอาแน่ไม่ได้ หวาดระแวง ชอบต่อต้าน ไม่ยืดหยุ่น โกรธง่ายอารมณ์ร้าย ช่างสงสัย ชอบเยาะเย้ยเหน็บแนมเสียดสี ระแวดระวังจนเกินไป โหดร้าย


  • ลักษณ์ 7 ผู้เสพสุข เป็นลักษณ์ที่มองโลกในแง่ดี ร่าเริง สนุกสนาน ชอบประสบการณ์ใหม่ๆ ไม่ชอบการผูกมัด มักมีวิธีที่จะทำให้ตัวเองมีความสุขอารมณ์ดีได้อยู่เสมอ ชอบทำสิ่งที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใครตลอดเวลา

    ข้อเด่น: กระตือรือร้น มีพลัง มีชีวิตชีวา รักสนุก แสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติ มีจินตนาการ มีเสน่ห์ สนใจใฝ่รู้ ร่าเริง โอบอ้อมอารี
    ข้อด้อย: เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง หุนหันพลันแล่น ชอบต่อต้าน เพ้อเจ้อ ร้อนใจอยู่นิ่งไม่ได้ ถือความคิดเห็นตนเองเป็นใหญ่ ปกป้องตนเอง วอกแวก เชื่อถือไม่ได้ ทำสิ่งที่เป็นผลเสียต่อตัวเอง


  • ลักษณ์ 8 เจ้านาย เป็นลักษณ์ที่ให้ความสำคัญกับการควบคุมและอำนาจ ใช้ชีวิตเกินพอดี โกรธง่ายหายเร็ว แสดงออกความโกรธอย่างตรงไปตรงมา ต้องการปกป้องผู้อ่อนแอ ผู้ที่ถูกรังแก เพื่อปกป้องความยุติธรรม

    ข้อเด่น: มั่นใจในตนเอง มีพลัง พูดความจริง ตัดสินใจเฉียบขาด ตรงไปตรงมา ซื่อตรง ปกป้องคนอื่น ใจกว้าง ให้กำลังใจ กล้าหาญ
    ข้อด้อย: ขาดความละเอียดอ่อน ชอบครอบงำคนอื่น เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ก้าวร้าวจนเกินไป เรียกร้องความต้องการ หยิ่งยโส ชอบต่อสู้ถกเถียง หวงแหนครอบครอง ไม่ประนีประนอม ชอบจับผิด


  • ลักษณ์ 9 ผู้ประสานไมตรี เป็นลักษณ์ที่ชอบความสงบ สามัคคี บรรยากาศที่เป็นมิตรสบายๆ ชอบช่วยเหลือคนอื่น รู้สึกลำบากใจมากเมื่อต้องเผชิญกับความขัดแย้ง มักมองเห็นและเข้าใจผู้คนในมุมมองต่างๆ ชอบทำตามคนอื่นและหลงลืมความต้องการของตัวเอง

    ข้อเด่น: ยอมรับคนอื่น อดทน ฉลาด เข้าอกเข้าใจคนอื่น มีความกรุณา อ่อนโยน ชอบช่วยเหลือ ไม่ตัดสินคนอื่น เปิดกว้าง
    ข้อด้อย: ก้าวร้าวแบบดื้อเงียบ ดื้อดึง เฉยเมย นิ่งเฉย ไม่มั่นใจในตนเอง ปกป้องตนเอง ใจลอย ***ลืม หมกมุ่นย้ำคิด ยอมตามคนอื่นมากไป




โครงสร้างและการทำงานของนพลักษณ์


นพลักษณ์ (Enneagram) มีโครงสร้างและการทำงานที่อาจซับซ้อนมากกว่าระบบบุคลิกภาพแบบอื่น แต่ความซับซ้อนเหล่านี้จะสามารถอธิบายความคิด การแสดงออก หรือบุคลิกภาพที่แต่ละคนมีได้เป็นอย่างดี ซึ่งโดยหลักๆ แล้วโครงสร้างของนพลักษณ์มีระบบดังนี้

  • ปัญญา 3 ฐาน (The 3 Centers)

  • สภาวะปีก (Wing)

  • สภาวะลูกศร (Arrow)

  • ลักษณ์ย่อย (Subtypes)


ปัญญา 3 ฐาน (The 3 Centers)

นพลักษณ์แบ่งผู้คนในลักษณ์ต่างๆ ผ่านปัญญา 3 ฐาน ซึ่งมักจะบ่งบอกว่าคนแต่ละลักษณ์ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องอะไร มักจะใช้กระบวนการอะไร และมีการแสดงออกอย่างไร โดย

  • ศูนย์ท้องหรือศูนย์กาย (body) คือ ศูนย์ท้องเป็นแหล่งของพลังและอำนาจที่จะกระทำสิ่งต่างๆในโลกทางกายภาพ ศูนย์นี้คือ บริเวณที่ชาวญี่ปุ่นรู้จักในนาม "ฮารา" และที่ชาวจีนรู้จักในนาม "ตันเฐียร" พวกศูนย์ท้อง (คนลักษณ์ 8, 9 และ 1 ซึ่งใช้สัญชาตญาณเป็นตัวนำ) มีศูนย์รวมที่การมี การเป็น ดำรงคงอยู่ในโลกด้วยการกระทำ  สัญชาตญาณของพวกเขา คือ ต้องทำ และอาจบอกว่าคนในศูนย์นี้ใช้ความรู้สึกตามสัญชาตญาณส่วนลึกเป็นฐานการตัดสินใจหรือการลงมือกระทำ แม้ว่าจะได้คิดอย่างรอบคอบในรายละเอียดแล้วก็ตาม นพลักษณ์ยกให้เป็นพวกหลงลืมตนเอง เพราะพวกเขาอาจไม่รู้ตัวว่า อะไรสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ต่อตนเองจริงๆ การเป็นคนกระตือรือร้นในโลกได้รับแรงบันดาลจากความโกรธ ขณะเดียวกันก็ทำให้ความโกรธ บรรเทาลงซึ่งสำหรับคน 1 และคน 9 จะปรากฏในการแสดงออกตรงๆ เป็นครั้งคราวเท่านั้น

  • ฐานใจหรือศูนย์ใจ (heart) คือ ในคนทุกคน ศูนย์ใจคือ ที่ ๆ เรารับรู้อารมณ์ซึ่งรับรู้ด้วยอวัจนภาษาที่บอกเราว่ารู้สึกอย่างไร แทนที่เราจะคิดอะไรในเรื่องนั้นๆ อารมณ์ของคน ศูนย์ใจมีตั้งแต่รุนแรง เร้าใจ ไปจนถึงซ่อนเร้นลึกล้ำที่สุดหรือแทบจะไม่รู้สึกเลย เราเมื่ออยู่หรือใช้ศูนย์นี้ จะรู้สึกผูกพันกับคนอื่นๆ แต่ก็ยังถวิลหาความรักและความอิ่มเอิบทางอารมณ์ นี่คือ ศูนย์ใจที่เปิดกว้างในการปฏิบัติทางเมตตากรุณา พวกศูนย์ใจ (คนลักษณ์ 2, 3 และ 4 ซึ่งใช้ใจเป็นตัวนำ) ดำเนินชีวิตด้วยการมีสัมพันธภาพและบางทีเรียกว่า "ประเภทภาพลักษณ์" เพราะมักจะห่วงว่าคนอื่นจะมองและเกี่ยวข้องกับตนอย่างไร คนในศูนย์นี้มักไวต่อความต้องการหรืออารมณ์ของผู้อื่นและสนองต่ออารมณ์และความต้องการ นั้นทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว สัมพันธภาพที่ประสบความสำเร็จจะช่วยไม่ให้เกิดความรู้สึกว่างเปล่า และโหยหา อันเป็นลักษณะสำคัญของคนในศูนย์นี้

  • ฐานหัวหรือศูนย์หัว (head) คือ ลักษณ์ที่มีความถนัดในการใช้ความคิด มักจะแสดงออกผ่านความคิด การวิเคราะห์ และการให้เหตุผล ได้แก่ ลักษณ์ 5 ลักษณ์ 6 และลักษณ์ 7 ในคนทุกคนศูนย์หัวเป็นตำแหน่งของความคิดคือ การวิเคราะห์แยกแยะ สังเคราะห์ จดจำ การคาดการณ์สภาพความคิดนึกเกี่ยวกับคนอื่นและเหตุการณ์ต่างๆ และการวางแผนการกระทำในอนาคต รวมถึงหมกมุ่นกับอดีตจินตนาการได้รวดเร็ว พวกศูนย์หัว (คนลักษณ์ 5, 6 และ 7 ซึ่งใช้หัวเป็นตัวนำการนึกคิด รู้สึกและกระทำ) มีแนวโน้มที่จะตอบสนองต่อชีวิตผ่านความนึกคิดเขามักมีจินตนาการที่ชัดเจนมีชีวิตชีวาและมีสมรรถภาพสูงในการวิเคราะห์และเชื่อมโยงความคิด ดังเห็นได้ว่าแม้แต่คนในศูนย์นี้ที่ชอบสมาคมกับผู้อื่นมากๆ ก็ยังพึงพอใจอย่างสมบูรณ์ที่จะใช้ ความคิดของตนเป็นเพื่อนฝูง สำหรับกลุ่มนี้การคิดเป็นทางที่จะเก็บกดความกลัวต่อโลกที่คุกคาม แฝงเร้นอยู่ (โดยมากไม่รู้ตัว)




สภาวะปีก (Wing)

สภาวะปีก (wing) คือ บุคลิกภาพประกอบในลักษณ์ประจำตัว ลักษณ์ทั้ง 2 ลักษณ์ ที่อยู่เคียงข้างลักษณ์หลัก ซึ่งจะทำให้แต่ละคนมีการแสดงออกที่แตกต่างกันออกไปตามอิทธิพลของลักษณ์ที่อยู่เคียงข้างลักษณ์นั้น ซึ่งคนแต่ละคนจะมีสภาวะปีกที่แตกต่างกัน หรือไม่จำเป็นที่จะต้องมีสภาวะปีกอยู่ในคนๆ นั้นก็ได้


ยกตัวอย่างเช่น ลักษณ์ 2 สามารถมีสภาวะปีกได้ 2 รูปแบบ คือ ปีก 1 หรือ ปีก 3 ซึ่งเป็นลักษณ์ที่อยู่เคียงข้างลักษณ์ 2 หากคนลักษณ์ 2 มีปีก 1 พวกเขาก็ได้รับอิทธิพลการแสดงออกและลักษณะบุคลิกภาพของคนลักษณ์ 1 ด้วย


สภาวะปีกเป็นสภาวะที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพแวดล้อม ปมปัญหาที่พบ และการเรียนรู้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสภาวะปีกที่เกิดขึ้นก็อาศัยระยะเวลายาวนาน นอกจากนั้นสำหรับผู้ที่เรียนนพลักษณ์แล้วการนำคุณลักษณะที่ดีของสภาวะปีกของตัวเองทั้ง 2 ข้างมาใช้ก็เป็นวิธีที่จะช่วยทำให้เกิดการพัฒนาตัวเองตามลักษณ์ได้ด้วย
บางกรณีผู้ศึกษาอาจรู้สึกว่าเรามีลักษณ์หลายลักษณ์ในตัว ตรงนี้เป็นเรื่องธรรมดาแต่ขอยืนยันว่าแต่ละคนจะมีลักษณ์เดียวและเป็นลักษณ์นั้นตลอดชีวิต แต่ลักษณ์ที่เราเป็นจะเกี่ยวเนื่องกับลักษณ์อื่นอยู่มากพอสมควร ซึ่งเป็นจุดที่น่าสนใจของนพลักษณ์เพราะแสดงถึงความซับซ้อนของมนุษย์เรา บางครั้งผู้ศึกษาจะเห็นว่าบางเวลาเราก็เป็นคนแบบลักษณ์นี้ บางเวลาเราก็เป็นคนในลักษณ์ใกล้เคียงกัน ยกตัวอย่าง บางเวลาเราก็มีนิสัยที่ดูคล้ายคน 7 บางเวลาก็ดูจะเป็นคน 8 อันนี้เป็นปรากฎการณ์ที่อธิบายได้ในเรื่อง "ปีก" ของนพลักษณ์ คือ แต่ละลักษณ์มีปีกอยู่ 2 ข้าง คือ มีลักษณ์อีก 2 แบบขนาบอยู่ซ้ายและขวาตามวงกลมในแผนภาพ เช่น กรณีเราอยู่ลักษณ์ 1 (คนเนี้ยบ) บุคลิกประกอบของเราจะประกอบด้วยลักษณ์ 9 (ผู้ประสานไมตรี) หรือลักษณ์ 2 (ผู้ให้) หรือกรณีเราอยู่ลักษณ์ 6 (นักปุจฉา) เราอาจมีปีกหนักไปทางลักษณ์ 5 (ผู้สังเกตการณ์) หรือลักษณ์ 7 (นักผจญภัย) โดยเราอาจมีปีกหนักไปทางลักษณ์ใด ลักษณ์หนึ่งหรือได้อิทธิพลทั้ง 2 ลักษณ์หรือไม่ได้อิทธิพลจากทั้ง 2 ปีกก็ได้ แล้วแต่เรื่องราวเฉพาะของเราตัวอย่าง ผู้เข้าอบรมท่านหนึ่งเป็นคน 6 มีบุคลิกภาพหลักคือ ขี้กลัว ฟุ้งซ่าน ชอบซักถามเพื่อความมั่นใจ ความชัดเจน ขณะเดียวกันเขามีปีก 5 ทำให้เขามีนิสัยที่เป็นตัวเขาอีกลักษณะ คือชอบซักถามเพื่อแสวงหาข้อมูลความรู้ ชอบอยู่คนเดียวเพื่อศึกษาหาความรู้ หรือพูดคุยซักถามกับผู้ทรงความรู้ ประสบการณ์ แต่คนนี้ก็จะไม่มีลักษณะแบบคน 5 ในแง่ที่ว่าไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องความเป็นส่วนตัวสูง ตระหนี่เกินเหตุ หรือชอบหลีกเลี่ยงเรื่องอารมณ์ ความรู้สึกเช่นคน 5 ดังนั้นสำหรับผู้ศึกษาลักษณ์ประจำตัว การสังเกตตนเองที่บุคลิกภาพภายนอกเราอาจตัดสินใจ ได้ยากระหว่างลักษณ์หลักและลักษณ์รองซึ่งผสมผสานในตัวเรา ข้อแนะนำคือต้องสังเกตและให้ความสำคัญกับอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดภายในในส่วนที่เป็นกิเลส หรือความคิดยึดติดตัวหลักที่อยู่ภายในตัวเรา รวมถึงวิธีคิดของตัวเราเองในการมองโลกมองตัวเอง







สภาวะลูกศร (Arrow)

สภาวะลูกศร (arrow) คือ สภาวะที่แต่ละคนมีพฤติกรรมและการแสดงออกเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมและการแสดงออกของคนแต่ละลักษณ์นั้นจะเปลี่ยนไปตามสภาวะที่มั่นคงและสภาวะที่ไม่มั่นคง
ผู้ศึกษาคงสังเกตในแผนภาพว่าระหว่างลักษณ์แต่ละลักษณ์มีลูกศรเชื่อมโยงกับอีก 2 ลักษณ์ เรื่อง "ลูกศร" ทฤษฎีนพลักษณ์ใช้ลูกศรอธิบายการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพในยามไม่ปกติของคนในลักษณ์ ต่างๆ ตามปกติแล้วเรามักคิดรู้สึกและกระทำตามนิสัยของลักษณ์ที่เราสังกัดซึ่งมีความเครียดในระดับที่เราทนได้ มีกิเลส มีปัญหาตามปกตินิสัยของคนทั่วๆไปที่เรายังไม่ได้พัฒนาตนเองแต่ไม่ถึงขนาดเป็นโรคประสาทหรือบ้า

ในนพลักษณ์แต่ละคนจะมีบุคลิกภาพใน 3 สภาวะ คือ

  • สภาวะปกติ คือ สภาวะตอนที่เราใช้ชีวิตตามปกติ ไม่ได้รู้สึกเครียดหรือมั่นคงมากนัก

  • สภาวะที่ไม่มั่นคง คือ สภาวะที่เรารู้สึกเครียด กดดัน อยู่ในสถานการณ์ที่แปลกออกไปจากความเคยชิน กำลังจะต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่หลีกเลี่ยง

  • สภาวะที่มั่นคง คือ สภาวะที่เรารู้สึกว่าสามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ได้ เห็นว่าสิ่งต่างๆ กำลังเป็นไปตามที่ต้องการ หรือช่วงเวลาที่มีความมั่นคงในชีวิต

เมื่อเราอยู่ในสภาวะที่ไม่มั่นคง ลักษณ์ของเราจะมีการแสดงออกและได้รับอิทธิพลตามลักษณ์อื่นที่อยู่ในทิศทางตามลูกศรเช่น ลักษณ์ 1 จะมีการแสดงออกและได้รับอิทธิพลของลักษณ์ 7


เมื่อเราอยู่ในสภาวะที่มั่นคง ลักษณ์ของเราจะมีการแสดงออกและได้รับอิทธิพลตามลักษณ์อื่นที่อยู่ในทิศทางทวนลูกศรเช่น ลักษณ์ 1 จะมีการแสดงออกและได้รับอิทธิพลของลักษณ์ 5


นอกจากนั้นสำหรับผู้ที่เรียนนพลักษณ์แล้วการนำคุณลักษณะที่ดีของสภาวะลูกศรทั้ง 2 สภาวะมาใช้ก็เป็นวิธีที่จะช่วยทำให้เกิดการพัฒนาตัวเองและดูแลตัวเองตามลักษณ์ได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในบางภาวะคนเราจะพบสภาพการณ์ที่ทำให้เราตึงเครียดมากเป็นพิเศษ ไม่ใช่ความเครียดเล็กน้อยที่เป็นอยู่ทั่วๆ ไปตามชีวิตประจำวันและสิ่งที่ทำให้เราตึงเครียดมากเป็นพิเศษนั้นจะตรงกับจุดอ่อนและปัญหาประจำลักษณ์ของเรา เช่น เมื่อคน 7 หมดทางเลือกต้องทำอะไรที่ซ้ำซาก น่าเบื่อ ไม่ชอบจะทำให้คน 7 เครียดเกินปกติหรือ คน 3 เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความล้มเหลว หรือที่เขาสร้างภาพความสำเร็จไม่ได้จะเป็นความเครียดพิเศษของเขาเมื่อเรามีความเครียดเป็นพิเศษแบบนี้พฤติกรรมทั้งภายนอกและภายใน แม้แต่วิธีคิดวิธีรู้สึกจะเปลี่ยนแปลงตามลูกศร(สังเกตทิศทางของลูกศรที่วิ่งออกจากลักษณ์ของเรา)เมื่อคน 8 สู้กับเรื่องต่างๆแล้วเจอแต่คนกล่าวโทษว่าก้าวร้าว รุนแรง จนคน 8 เหนื่อย รู้สึกน้อยใจ เขาจะมีพฤติกรรมคล้ายกับคน 5 คือ เก็บตัวไม่พบใคร มีแต่อ่านหนังสือหรือทำอะไร เพื่อจัดการกับความคิด ความรู้สึกของตนเอง อันนี้ไม่ได้หมายความว่าเขาเปลี่ยนเป็นคน 5 เขายังคงเป็นคน 8 อยู่เพียงแต่คน 8 ที่เครียดจัดจะประพฤติคล้ายคน 5 เมื่อหลุดจากภาวะเครียดหนัก พฤติกรรมจะกลับไปสู่ลักษณ์เดิม ในยามหรือภาวะตรงข้ามที่เรียกว่าภาวะปลอดโปร่ง มั่นคงปราศจากความเครียด เราจะมีพฤติกรรมความนึกคิดที่เปลี่ยนแปลงไปตามทิศทางทวนลูกศร ตัวอย่าง คน 4 ที่มักอยู่ในโลกภายในเป็นปกตินิสัยของเขา เมื่อเขาหลุดจากความรู้สึกว่าชีวิตขาดอะไรไป ใจของเขาก็จะปลอดโปร่งสบาย ไม่เครียดเลย เขาจะมีพฤติกรรม วิธีคิดคล้ายคน 1 คือ เป็นระเบียบ มีความรับผิดชอบสูง กรณีคน 1 เมื่อหลุดจากกรอบของความถูกต้อง ไม่ถูกต้องที่ทำให้ตนเองเครียดเป็นประจำ เขาจะผ่อนคลาย ขี้เล่น สนุกสนานคล้ายคน 7 โดยยังเป็นคน 1 อยู่แต่เป็นคน 1 ที่มีอะไรคล้ายคน 7
โดยสรุปเราเป็นลักษณ์ใดก็ยังคงเป็นลักษณ์นั้นตลอดไป เพียงแต่ว่าตามโครงสร้างของลักษณ์เรา พฤติกรรมจะเปลี่ยนแปลงในภาวะตึงเครียดหนักหรือ สบายใจมั่นคงเป็นพิเศษ ตรงนี้จะเข้าใจได้ถ้าหากเราไม่ลืมว่าตามปกติเรามีปัญหาที่เก็บไว้ในใจ จัดการกับความคิดความรู้สึกได้บ้างไม่ได้บ้างลึกๆ ยังมีบาดแผลซึ่งทำให้ลักษณ์ปกติของเราไม่ใช่ภาวะที่ปราศจากปัญหา เพราะที่จริงลักษณ์เป็นเกราะและวิธีที่เราพอจะใช้เพื่อเอาตัวรอด แม้ปัญหาต่างๆ ยังคงอยู่แต่ถ้ามีปัญหาเพิ่มมากขึ้นจนปรับตัวไม่ค่อยได้ พฤติกรรมจึงเปลี่ยนตามทิศทางลูกศร แต่กรณีที่สามารถหลุดจากภาวะปกติจึงจะไปทางตรงข้าม คือ ทวนทิศทางของลูกศร





ลักษณ์ย่อย (Subtypes)

ลักษณ์ย่อย (subtypes) คือ ลักษณะความใส่ใจของคนในแต่ละลักษณ์ที่แสดงออกตามสัญชาตญาณพื้นฐานซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท จนทำให้คนแต่ละลักษณ์มีการแสดงออกที่แตกต่างกันเป็น 27 แบบ โดยที่ลักษณ์ย่อยทั้ง 3 ประเภทคือ

  • ลักษณ์ย่อยแบบผดุงตน (self-preservation) คือ ลักษณ์ย่อยที่ให้ความสำคัญกับการเอาชีวิตรอด สิ่งของวัตถุ หรือสิ่งของทางกายภาพเพื่อที่จะสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับชีวิตของตัวเอง โดยที่พลังของคนที่อยู่ในลักษณ์ย่อยกลุ่มนี้จะถูกใช้ไปกับการสร้างความมั่นคง ปลอดภัย ให้กับตัวเองตามลักษณะของคนแต่ละลักษณ์

  • ลักษณ์ย่อยแบบความสัมพันธ์ (one-to-one, sexual) คือ ลักษณ์ย่อยที่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์กับคนใดคนหนึ่ง ซึ่งความสัมพันธ์เหล่านั้นอาจเป็นความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว ความสัมพันธ์แบบโรแมนติก เพื่อน หรือสัตว์เลี้ยงก็ได้ โดยพลังของคนที่อยู่ในลักษณ์ย่อยกลุ่มนี้จะถูกใช้ไปกับการสร้างความสัมพันธ์กับคนอีกคนหนึ่งตามลักษณะของคนแต่ละลักษณ์

  • ลักษณ์ย่อยแบบสังคม (social) คือ ลักษณ์ย่อยที่ให้ความสำคัญกับการเป็นส่วนหนึ่ง การได้รับความเคารพ การเป็นคนที่จดจำ หรือมีความสัมพันธ์กับกลุ่ม โดยกลุ่มนี้หมายถึงครอบครัว ชุมชน กลุ่มเพื่อน ที่ทำงาน หรือสังคมก็ได้ โดยพลังของคนที่อยู่ในลักษณ์ย่อยกลุ่มนี้จะถูกใช้ไปกับการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มนั้นตามลักษณะของคนแต่ละลักษณ์

ลักษณ์ย่อยของคนแต่ละลักษณ์สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพแวดล้อม ปมปัญหาที่พบ และการเรียนรู้ แต่พวกเขาก็ยังมีลักษณ์ย่อยที่เด่นที่สุดอยู่ และมักจะมีลักษณ์ย่อยที่ละเลยไปจนอาจเกิดเป็นความท้าทายของชีวิต


นอกจากนั้นสำหรับผู้ที่เรียนนพลักษณ์แล้วการนำคุณลักษณะที่ดีของลักษณ์ย่อยทั้ง 3 ลักษณ์ย่อยมาใช้ก็เป็นวิธีที่จะช่วยทำให้เกิดการพัฒนาตัวเองและดูแลตัวเองตามลักษณ์ได้ด้วย





ประโยชน์ของนพลักษณ์สำหรับพัฒนาองค์กร

นพลักษณ์ได้รับความนิยมในวงการธุรกิจเพราะเป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้บุคลากรในองค์กรได้รู้แนวทางในการพัฒนาตัวเองที่ไม่เหมือนศาสตร์ไหน ได้เข้าใจความแตกต่างของแต่ละคน รู้จุดอ่อนจุดแข็งของตัวเอง ช่วยทำให้เกิดการทำงานร่วมกันเป็นทีม และพัฒนาศักยภาพของผู้นำได้


การพัฒนาศักยภาพผู้นำ

การสร้างภาวะผู้นำ (leadership) ในยุคสมัยใหม่ต่างไปจากเดิม เพราะผู้นำในยุคใหม่ไม่ใช่แค่คนที่มีหน้าที่ควบคุมงาน แต่มักจะเกี่ยวข้องกับวิธีการบริหารคน ทำให้พวกเขาจำเป็นที่จะต้องรู้จักตัวเอง เห็นตัวเองอย่างรอบด้าน รู้วิธีสื่อสารกับคนที่แตกต่างกัน และเข้าใจความอ่อนไหวของคนแต่ละคน


การเรียนรู้เรื่องนพลักษณ์สำหรับหัวหน้า ผู้บริหารหรือผู้นำในองค์กร จะช่วยทำให้ผู้นำได้เห็นจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเอง เท่าทันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากความเป็นลักษณ์ เห็นสไตล์ความต้องการที่แตกต่างกันในตัวคน และเรียนรู้วิธีการสื่อสารที่เหมาะสมกับคนแต่ละลักษณ์


การสร้างทีมเวิร์ค

ทีมที่ดีเริ่มต้นที่การเข้าใจกัน ซึ่งการเรียนรู้เรื่องนพลักษณ์จะช่วยทำให้สมาชิกในทีมเข้าใจความแตกต่างของคนแต่ละลักษณ์ สิ่งที่คนแต่ละลักษณ์ให้ความสำคัญ แนวโน้มปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการแสดงออกของคนในทีม วิธีการแสดงออกของคนแต่ละลักษณ์ และแนวทางในการทำงานกับคนลักษณ์ต่างๆ เพื่อทำให้เกิดทีมเวิร์ค


การพัฒนาตนเอง

นพลักษณ์เป็นเครื่องมือที่น่าทึ่งมากสำหรับการเรียนรู้และการพัฒนาตัวเองในระยะยาว เพราะนพลักษณ์จะช่วยชี้ให้แต่ละคนได้เห็นถึงกลไกที่คนแต่ละลักษณ์มักจะใช้ไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งการใช้กลไกเหล่านี้ก็นำมาซึ่งปัญหาในชีวิตด้วยเช่นกัน


การตระหนักรู้ในลักษณ์ของตัวเองเพื่อที่จะเห็นปัญหาจากความเป็นลักษณ์เป็นวิธีที่จะช่วยทำให้แต่ละคนสามารถก้าวพ้นข้อจำกัดของตัวเอง เรียนรู้วิธีการปรับตัวและมีทางเลือกอื่นๆ ที่สามารถทำได้เพื่อที่จะพัฒนาตัวเองเพื่อให้ชีวิตมีความสมดุลมากยิ่งขึ้น


ตัวอย่างเพิ่มเติม



ที่มา

ENNEAGRAM คืออะไร: http://cymiz.com/forum/single.php?id=2419

นพลักษณ์ (Enneagram) คืออะไร? คนแต่ละลักษณ์มีลักษณะอย่างไร?: https://www.urbinner.com/post/what-is-enneagram

Enneagram กับ HR: บริหารจัดการพนักงานผ่าน 9 นพลักษณ์: https://th.hrnote.asia/tips/enneagram-hr-220526/#:~:text=Enneagram%20%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%90%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87,%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B8%B6%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99

ศูนย์/ปีก/ลูกศร: https://enneagramthailand.org/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1-showdetail-22656-45319-%E0%B8%A8%E0%B8%B9%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B9%8C_%E0%B8%9B%E0%B8%B5%E0%B8%81_%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%A8%E0%B8%A3.html

ศาสตร์แห่งการเข้าใจตัวเอง นพลักษณ์: https://www.youtube.com/watch?v=xhk6BW2ewxs




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กิจกรรมที่ 6 DATA for Computer Project

  กิจกรรมที่ 6 DATA for Computer Project เรื่อง Enneagram of Personality นพลักษณ์ รู้จักคนด้วยบุคลิกทั้ง 9 แบบ Enneagram คือบุคลิกภาพพื้นฐาน...